วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติและความเป็นมา

            เชียงรายเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำกก จึงเป็นดินแดนที่มีผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่งตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีความรุ่งเรืองสืบต่อกันมาหลายุคสมัย

            จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในเขตที่ราบลุ่มรอบแม่น้ำกก สันนิษฐานได้ว่าบริเวณนี้เป็นศูนย์กลางของชุมชนมาแล้วตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.1800 เพราะมีร่องรอยของซากเมืองที่มีความเจริญ ทางวัฒนธรรมและศิลปะ อยู่ตามริมแม่น้ำกก ซากเมืองโบราณที่ค้นพบในปัจจุบันมีถึง 27 เมือง ตั้งแต่ อ.ฝาง ของเชียงใหม่ ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำกก มาจนถึงเมืองเชียงแสน ซึ่งโบราณสถานเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า มีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่ในลุ่มแม่น้ำกก อย่างหนาแน่น และได้ขยายตัวสร้างบ้านแปงเมืองกันไม่ขาดสาย
             ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงรายเริ่มต้นในสมัยต้นพุทธศตวรรษที่ 19 โดยพญามังราย (พ.ศ.1781 - 1860) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย บุตรของพญาลาวเม็ง ผู้ครองนครหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสนในปัจจุบัน) ได้ขึ้นครองราชย์แทนพญาลาวเม็ง ในปี พ.ศ.1802 และได้ย้ายราชธานี จากเมืองหิรัญนครเงินยาง มาสร้างราชธานีแห่งใหม่ ที่ริมฝั่งแม่น้ำกก เมื่อ พ.ศ.1805 และได้ขนานนามว่า เชียงราย หมายถึง "เมืองของพญามังราย"
             จากนั้นจึงได้รวบรวมหัวเมืองต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติสายเลือดลัวะจักราช เช่น เมืองเชียงไร เมืองไร เมืองปง เมืองเวียงคำ เชียงเงิน เชียงของ ฯลฯ เข้ามาไว้ในอำนาจ และแผ่อำนาจเข้าไปในเขตลุ่มน้ำปิง ปี พ.ศ.1839 ทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ให้ชื่อราชธานีใหม่ว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่" และครองราชย์อยู่ที่เชียงใหม่ตลอด โดยให้ราชโอรส ไปครองเมืองเชียงรายแทน เชียงรายจึงกลายเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ไป
            เมื่อพญามังรายสวรรคตลง ภายในอาณาจักรล้านนาอันมีเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีเกิดความแตกแยก เจ้าผู้ครองนครแก่งแย่งชิงอำนาจกัน จนเกิดสงครามกลางเมือง พระเจ้าบุเรงนองฉวยโอกาสเข้าตีอาณาจักรล้านนาสำเร็จ พม่าได้ปกครองอาณาจักรล้านนาเป็นเวลากว่า 200 ปี และได้ฟื้นฟูเมืองเชียงแสนขึ้นเป็นเมืองสำคัญ ในการปกครองของหัวเมืองฝ่ายเหนือ
            ต้นพุทธศตวรรษที่ 24 สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พญากาวิละ เป็นผู้มีบทบาทสูง ในการเกลี้ยกล่อมให้บรรดาเมืองต่างๆ ในล้านนา ร่วมมือกันต่อสู้กับพม่า แต่ยังไม่สำเร็จ จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงส่งกำลังมาสนับสนุนพญากาวิละ ต่อสู้กับพม่าจนเป็นผลสำเร็จ ทรงสถาปนาให้เชียงใหม่เป็นประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ และแต่งตั้งพญากาวิละเป็น "พระเจ้ากาวิละ" ปกครองเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2347 พระเจ้ากาวิละ ทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน และกวาดต้อนผู้คนออกจากบริเวณเมืองจนหมด เมืองต่างๆ รวมทั้งเชียงราย จึงถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้าง
            ต่อมาในปี พ.ศ.2386 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 เชียงรายได้รับการบูรณะขึ้นอีกครั้ง ในฐานะเมืองบริวารของเชียงใหม่ โดยมีเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เป็นเจ้าปกครองนคร
            ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินนโยบายสร้างความเป็นเอกภาพทางการเมือง ประกาศจัดตั้งมณฑลพายัพขึ้น ในปี พ.ศ.2427 และยกเลิกหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทย เมืองเชียงรายจึงจัดเป็นเมืองหนึ่งซึ่งขึ้นตรงต่อมณฑลพายัพ ในสมัยรัชกาลที่ 6 การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิก เชียงรายจึงได้จัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดหนึ่งของสยามประเทศมานับแต่นั้น

อำเภอพาน

พระธาตุจอมแว่

            อยู่บนภูเขาจอมแว่ หมู่ที่ 2 ถนนจอมแว่ (สายเก่า) ตำบลเมืองพาน เป็นพระธาตุที่มีประชาชนชาวอำเภอพานและอำเภอใกล้เคียงนับถือกันว่าเป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อถึงเดือน 9 ขึ้น 15 ค่ำ จะมีงานนมัสการองค์พระธาตุทุกปี

--------------------------------------------

อุทยานแห่งชาติดอยหลวง

            มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอแม่สรวย อำเภอพาน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง และอำเภอแม่ใจ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ ๗๓๑,๒๕๐ ไร่ สภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูง มีดอยหลวงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ประกอบด้วยป่าสน ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ที่ยังคงอุดมสมบูรณ์มีความอุ้มน้ำสูง ทำให้ลำห้วยและน้ำตกในอุทยานฯ มีน้ำไหลตลอดปี อุทยานฯ ยังมีสัตว์ป่า เช่น หมี กวาง เก้ง เลียงผา และนกหลายชนิด เช่น นกเงือก นกพญาไฟพันธุ์เหนือ นกปีกลายสก๊อต นกกางเขนหัวขาวท้ายแดง นกศิวะปีกสีฟ้า และนกย้ายถิ่นหายาก เช่น นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า นกกินปลีหางยาวคอสีดำ เป็นต้น นอกจากความสมบูรณ์ของป่าที่ให้ความร่มรื่น ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานฯ มี น้ำตกปูแกง สูง ๙ ชั้น เป็นน้ำตกที่มีต้นน้ำจากน้ำซับใต้ดิน มีตะกอนหินปูนปนมากับน้ำ ทำให้เกิดหินงอกหินย้อยดูสวยงาม และในยามค่ำคืนจะได้ยินเสียงน้ำตกไหลกระทบหิน อุทยานฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกปูแกง ระยะทาง ๑,๕๐๐ เมตร ตามเส้นทางจะมีป้ายสื่อความหมายตามจุดต่าง ๆ ที่จะให้ความรู้แก่นักเดินป่าได้ เส้นทางเดินไม่ลาดชัน เดินสบาย

--------------------------------------------

อำเภอเวียงป่าเป้า

อุทยานแห่งชาติขุนแจ

            อุทยานแห่งชาติขุนแจ อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อุทยานแห่งชาติขุนแจประกอบด้วย ดอยลังกาหลวง ลังกาน้อย ดอยมด ดอยผาโง้ม ดอยลังกาหลวงเป็นยอดดอยที่สูงเป็นอันดับ 5 ของไทย นอกจากนี้ยังมีดอยผ้าโง้มที่มีทัศนียภาพที่งดงาม มีดอยลังกาน้อยเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง ลักษณะการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติขุนแจเป็นการท่องเที่ยวแบบเดินป่า กางเต็นท์นอนในป่า เส้นทางเดินต้องเดินบนสันดอยเกือบตลอดเส้นทาง ระหว่างทางเดินวิวสวย มีดอกกุหลาบดอยลังกาหลวงที่สวยงามเป็นดอกไม้เฉพาะถิ่นมีให้เห็นเฉพาะที่นี่ที่เดียว บนดอยมีลำธารให้นักท่องเที่ยวได้อาบได้ใช้เพื่อการดำรงชีวิต หากสนใจไปเที่ยวสถานที่แห่งนี้ติดต่อได้ที่ อุทยานแห่งชาติขุนแจ ต.แม่เจดีย์ใหม่ อ. เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย

-------------------------------------------


ดอยมด

            อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ แต่อยู่คนละฝั่งกับดอยลังกาหลวงโดยมีถนนทางหลวงแผ่นดินสาย ๑๑๘ กั้น หากขึ้นไปอยู่บนยอดดอยลังกาหลวงก็จะเห็นยอดดอยมด เมื่ออยู่บนยอดดอยมดก็จะเห็นยอดดอยลังกาหลวง การติดต่อและการเดินทางเหมือนหัวข้อข้างบนทุกประการ

            มีความหนาแน่นของป่าดิบชื้นระหว่างทางเดินขึ้นสู่ยอดดอยมด มีพืชขึ้นหลายชนิด เช่น กล้วยไม้ดิน เฟิร์น มอส และพืชอื่นๆ ร่มรื่นและชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา บนยอดดอยที่ระดับความสูง 1,700 เมตร มีป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ ดอยมดสามารถเดินป่าได้โดยใช้เวลา 2 วัน 1 คืน

-------------------------------------------


อำเภอเชียงแสน

วัดพระธาตุเจดีย์หลวง


            เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังฐานสูงแปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดของเมืองเชียงแสน ทัวร์ดอยพานักท่องเที่ยวไปสถานที่นี้อยู่บ่อยๆ เจดีย์หลวงสร้างราวปี พ.ศ.1887 ต่อมามีสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เจดีย์องค์ปัจจุบันที่อยู่ในสภาพดีนั้นเป็นเจดีย์ที่ก่อขึ้นมาใหม่บนฐานเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2058

------------------------------------------

วัดพระธาตุจอมกิตติ

            เป็นพระธาตุเก่าแก่ที่สร้างมาก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงแสน ตำนานการสร้างยังสับสนเรื่อง พ.ศ. พระธาตุองค์เดิมพระเจ้าพังคราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อบรรจุพระธาตุ ( พระธาตุที่ได้รับมาพร้อมกับพระธาตุที่บรรจุที่พระธาตุดอยตุง และพระธาตุดอยจอมทอง ) สร้างเมื่อ พ.ศ. 1483 ต่อมาในสมัยเชียงแสนพระธาตุได้ทรุดโทรม เจ้าเมืองเชียงแสนจึงได้สร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2030 ซึ่งยังคงอยู่ถึงทุกวันนี้ แต่ว่าองค์พระธาตุเริ่มที่จะเอียงไปทางด้านทิศใต้แล้ว

------------------------------------------

วัดป่าสัก

            ตั้งติดกับกำแพงเมืองด้านนอกฝั่งทิศตะวันตก พื้นที่วัดมีบริเวณกว้างขวางวางขนานไปกับคูเมืองตั้งแต่ป้อมประตูเมืองเชียงแสน จนถึงป้อมประตูหนองมูต ภายในวัดมีโบราณสถาน 7 แห่ง แต่ละแห่งล้วนเป็นฮิฐส่วนฐานของสิ่งปลูกสร้างกับแนวอิฐที่บ่งบอกแนวสิ่งก่อสร้างนั้นๆ มีอยู่สิ่งเดียวที่ยังคงสมบูรณ์ที่สุดคือเจีดย์ประธานทรงปราสาทยอดทรงระฆังแบบห้ายอด มีลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม เจดีย์นี้สร้างโดยพญาแสนภู เมื่อ พ.ศ. 1883 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระพุทธโฆษาจารย์ได้อัญเชิญมาจากอินเดีย หลังจากสร้างวัดแล้วได้ปลูกต้นสักล้อมรอบกำแพงจำนวน 300 ต้น จึงได้เรียกชื่อว่าวัดป่าสัก

------------------------------------------

ทะเลสาบเชียงแสน

 
            ทะเลสาบเชียงแสนเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเมืองเชียงแสนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองเชียงแสน ห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร มีชื่อเรียกท้องถิ่นว่า หนองบงคาย เป็นหนองน้ำธรรมชาติที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก

------------------------------------------

พระบรมธาตุพุทธนิมิตรเจดีย์

            เป็นเจดีย์สีขาวตั้งเด่นอยู่บนภูเขาลูกเตี้ยๆ ทางด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองเชียงแสน เจดีย์องค์ปัจจุบันเป็นพระธาตุองค์ใหม่ที่สร้างคล่อมพระธาตุองค์เดิม พระบรมธาตุพุทธนิมิตรเจดีย์ที่สร้างใหม่มีขนาดใหญ่ภายในเป็นห้องโถง กึ่งกลางเจดีย์เป็นฐานของพระธาตุเก่าที่พุพัง บริเวณผาผนังเป็นภาพเขียนบอกเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติการสร้างเมืองเชียงแสน บนเจดีย์นี้เป็นจุดชมวิวแม่น้ำโขงที่สวยงามมาก

------------------------------------------

อำเภอเทิง

ภูชี้ฟ้า






            ภูชี้ฟ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่นของจังหวัดเชียงราย อยู่ในพื้นที่เขตอำเอภอเทิง ยอดภูชี้ฟ้าตั้งอยู่บนเทือกเขาสุดเขตชายแดนฝั่งตะวันออกติดกับชายแดนประเทศลาว ห่างจากอำเภอเทิงประมาณ 35 กิโลเมตร ภูชี้ฟ้ามีลักษณะเป็นหน้าผามีปลายยอดแหลมชี้เข้าไปยังฝั่งประเทศลาว สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๖๒๘ เมตร บนยออดภูชี้ฟ้าเป็นจุดชมวิว และจุดชมทะเลหมอกที่สวยงาม ในตอนเช้าจะมีทะเลหมอกปกคลุมในหุบเขาเบื้องล่าง มีพระอาทิตย์ขึ้นผ่านพ้นทะเลหมอก เป็นความสวยงามที่นักท่องเที่ยวพากันไปรอชมตั้งแต่ยังไม่สว่าง บริเวณไหล่เขาของภูชี้ฟ้าเป็นทุ่งหญ้า แซมด้วยทุ่งโคลงเคลงที่มีดอกสวยงามในช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาว บริเวณที่ราบไหล่เขาของถนนสายภูชี้ฟ้าเป็นที่ตั้งของรีสอร์ทและบ้านพักหลายรายเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปเที่ยวและพักค้างแรมในบรรยากาศที่หนาวเย็น ปัจจุบันนี้ภูชี้ฟ้าอยู่ในความดูแลของวนอุทยานภูชี้ฟ้า ูชี้ฟ้าเป็นดอยเดียวที่ชื่อว่าภู จริงแล้วจะต้องชื่อว่าดอยชี้ฟ้าตามคำเรียกของทางเหนือ แต่ว่าภูชี้ฟ้าเป็นชื่อที่คนต่างถิ่นไปตั้งชื่อ จึงมีเรียกว่าภู



----------------------------------------


ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงดอยผาหม่น



            เป็นศูนย์ส่งเสริมการเพาะปลูกดอกไม้เมืองหนาว มีดอกไม้เมืองหนาวสวยๆ หลายชนิดมีทั้งปลูกในโรงเรือนและปลูกลงแปลงกลางแจ้ง นอกจากดอกไม้เมืองหนาวสวยๆ แล้วภายในศูนย์เกษตรยังมีทัศนียภาพที่สวยงาม ศูนย์เกษตรแห่งนี้เปิดให้ต้อนรับให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่การไปชมศูนย์เกษตรไม้เมืองหนาวแห่งนี้ต้องเข้าใจไว้อย่งหนึ่งว่าที่นี่เป็นศูนย์เกษตรปลูกพืชเพื่อการทดลองมิใช่ปลูกประดับไว้ให้นักท่องเที่ยวชม จะให้สวยงามอย่างสวนดอยตุงนั้นไม่ได้ จะให้สวยเหมือนแปลงไม้ประดับที่อ่างขางไม่ได้ ที่นี่มีนักท่องเที่ยวผ่านมาแวะชมน้อยและไม่ได้เก็บค่าเข้าชม ดังนั้นจึงไม่มีงบประมาณที่จะปลูกให้สวยงามเหมือนที่อื่น หากนักท่องเที่ยวไปในช่วงที่แปลงไม้ดอกกำลังออกดอกก็จะเห็นความสวยงาม หากไปในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวจะไม่สวยงาม


----------------------------------------

อำเภอแม่สาย

แม่สาย


            เป็นอำเภอที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย ติดกับพรมแดนประเทศพม่าโดยมีแม่น้ำรวกแบ่งเขตแดน มีสะพานข้ามระหว่างฝั่งไทยและพม่า ทั้งสองฝั่งเป็นที่ตั้งของด่านตรวจคนเข้าเมืองของทั้งสองประเทศ ตัวเมืองแม่สายอย่างห่างจากตัวเมืองเชียงราย 62 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางหลวงหมาลเลข 110 ไปจนเกือบสุดถนนเป็นทั้งตั้งของที่ทำการอำเภอแม่สาย ห่างขึ้นไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตรคือตลาดชายแดนแม่สาย ห่างตรงผ่านด่านตรงขึ้นไปก็จะเข้าประเทศพม่าไปยังเมืองเชียงตุงของพม่า ผ่านเมืองลาเมืองปกครองพิเศษ แล้วเข้าไปยังเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนาของจีน แม่สายมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันไม่ขาดสายทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ขับรถลงมาจากเมืองเชียงรุ่ง แขวงสิบสองปันนา


----------------------------------------


ท่าขี้เหล็ก


            เมืองนี้ไม่ได้อยู่ฝั่งประเทศไทย เมืองท่าขี้เหล็กเป็นเมืองที่อยู่ฝั่งพม่าตรงข้ามกับเมืองแม่สายโดยมีแม่น้ำกั้น หากเดินผ่านสะพานเข้าไปก็เป็นเมืองท่าขี้เหล็ก คนไทยที่ไม่เคยข้ามไปก็อยากจะข้ามไปเพราะไม่รู้ว่าฝั่งนั้นมีอะไร พอข้ามไปแล้วก็จะรู้ว่าไม่มีอะไร บริเวณริมสะพานด้านขวาเป็นที่ตั้งของตลาดซึ่งก็เหมือนกับตลาดฝั่งแม่สาย ดูเหมือนสินค้าจะราคาถูกกว่าโดยเฉพาะพวกแอบเปิ้ล พอซื้อมาแล้วก็รู้สึกเหมือนว่าถูกหลอก แต่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้หลอก คือว่าที่นั่นมาตรฐานกิโลของเขาไม่เท่าของเรา 1 กิโลของเขาเท่ากับ 8 ขีดของเรา ดังนั้นถ้าจะข้ามไปซื้อเห็ดหอมแล้วก็ระวังกลับมาชีช้ำเพราะบวกลบคูณหารดูแล้วราคาแพงกว่าฝั่งไทย บุหรี่นอกราคาถูกๆ ก็มีขายเยอะแยะ ซองภายนอกล่ะก็ใช่แต่ภายในบุหรี่ยี่ห้อพม่าแถมขึ้นราอีกตะหาก ซีดีถูกๆ ก็มีเยอะเพราะฝั่งนั้นเขาไม่จับเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าหากจะซื้อก็ควรจะซื้อในร้านใหญ่ๆ ซื้อแล้วลองก่อนไม่งั้นจะได้ซีดีเสียที่ไม่สามารถเปิดดูได้ ถ้าหากจะซื้อของตามร้านแผงลอยริมทางก็ควรที่จะเตรียมเงินไว้ให้พอดี ถ้าหากจะต้องทอนก็จะมีปัญหาเพราะทางนั้นมักจะไม่ค่อยทอนโดยจะยัดเยียดของอื่นให้แทนโดยอ้างว่าไม่มีเงินทอนยื้อไปยื้อมาเสียเวลาเดี๋ยวกลับมาขึ้นรถไม่ทัน สรุปว่าไม่ต้องข้ามไปให้เสียเงินเสียเวลาดีกว่า ถ้าคิดจะซื้อของให้ซื้อฝั่งไทยเป็นคำตอบสุดท้ายที่ถูกต้องที่สุด แต่ถ้าหากจะข้ามไปเที่ยวฝั่งนั้นก็พอมีที่เที่ยว ทางพม่าได้ทำอนุสาวรีย์บุเรงนอง และเจดีย์ชเวดากองจำลองไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ไปเที่ยวชม สถานที่ท่องเที่ยวนี้อยู่ห่างจากชายแดนประมาณ 2 กิโลเมตร การไปเที่ยวชมจะต้องเช่ารถมอเตอร์ไซด์สามล้อไปจากตลาดท่าขี้เหล็ก ค่าใช้จ่ายไป-กลับ 40 บาท 50 บาท 60 บาท แล้วแต่ละรายจะเรียก แต่ถ้าจะไปต้องคุยกันให้รู้เรื่องว่าราคาไป-กลับหรือราคาเที่ยวเดียว เพราะเคยมีนักท่องเที่ยวโดนหลอกบ่อยๆ จริงๆ แล้วไปกลับ 50 บาท บางคนโดนเก็บเที่ยวกลับอีก 50 บาท

----------------------------------------

อำเภอแม่จัน

ดอยแม่สลอง


            ดอยแม่สลอง คือเทือกเขาที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงราย อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน บนดอยแม่สลองเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวจีนฮ่อ หรืออดีตกองทัพจีนกองพล 93 ทหารจีนธนชาติที่ถูกกองทัพของเหมาเจ๋อตุงตีจนต้องถอยร่นลงมายังภาคเหนือของไทย แล้วก็โดนพม่าตีจนต้องถอยล่นเข้ามาอาศัยแผ่นดินทไทยที่บนดอยแม่สลอง อดีตทหารรุ่นเก่าได้ช่วยไทยเราไว้ก็เยอะในการของการปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์ในยุคก่อนๆ แต่ลูกหลายในปัจจุบันก็สร้างปัญหาไว้ก็ไม่ใช่น้อย สิ่งที่น่าสนใจของดอยแม่สลองคือทัศนียภาพที่งดงาม

---------------------------------------

พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินฯ



            เป็นเจดีย์สีขาวงามสง่าตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของดอยแม่สลอง ชื่อว่า พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรี ทางขึ้นอยู่เลยบริเวณหมู่บ้านเพียงเล็กน้อย มีทางแยกขึ้นเขา ทางขึ้นเป็นทางชันมาก หากรถสภาพไม่ดีหรือรถดีแต่คนขับไม่เก่งไม่สมควรขึ้น บริเวณจอดรถมีไม่มาก ด้านทิศตะวันออกหรือด้านหลังของเจดีย์เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ์ที่สวยงาม เมื่ออยู่บนจุดนี้มองลงไปยังเบื้องล่างจะเห็นวิวที่สวยงามที่สุดของทุกมุมมองของดอยแม่สลอง

---------------------------------------









อำเภอเมืองเชียงราย

อนุเสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช


            อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ตั้งอยู่กลางตัวเมืองเชียงรายบริเวณห้าแยก หากใครขับรถเข้าตัวเมืองเชียงรายหรือผ่านตัวเมืองเชียงรายก็จะต้องเห็น ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือ ย่ามค่ำคืนมีแสงไฟจากสปอร์ตไลท์ส่องสวยงาม อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายนี้ทางจังหวัดเชียงรายได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงบุคคลสำคัญซึ่งพระองค์ท่านเป็นผู้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นมาตั้งแต่ในปี พ.ศ. 1805 และเมืองเชียงรายก็เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา



ประวัติ
            พ่อขุนเม็งรายเป็นโอรสของพญาลาวเม็ง ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ พุทธศักราช 1782 หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เมืองหิรัญนครเงินยาง ( เชียงแสน ) ได้ 1 ปี พระองค์ทรงสร้างเมืองเชียงรายเป็นเมืองหลวงแทนหิรัญนครเงินยาง เมื่อปี พ.ศ. 1805 และได้ทำสงครามชนะอาณาจักรหิริภุญชัย ( ลำพูน ) จึงได้ตั้งเมืองใหม่ที่เวียงกุมกาม ( อ. สารภี จ. เชียงใหม่ ) ในปี พ.ศ. 1829 ต่อมาไม่นานเกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้แม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง จึงได้ย้ายไปสร้างเมืองใหม่คือเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1839 และทรงเป็นกษัตริย์อยู่ที่เมืองเชียงใหม่เรื่อยมาจนกระทั่งพระองค์ท่านทรงต้องอสนีบาต ( ฟ้าผ่า ) ในกาด ( ตลาด ) กลางเมืองเชียงใหม่ บริเวณหน้าวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ทรงสวรรคต ณ. ที่นั้น เมื่อปี พ.ศ. 1854 รวมพระชนมายุได้ 72 พรรษา






----------------------------------------

วัดร่องขุ่น



วัดร่องขุ่น ออกแบบและสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน ์ ศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทย สร้างขึ้นด้วยแรงปณิธานที่มุ่งมั่น รังสรรค์งานศิลปะที่งดงามแปลกตาผสานวัฒนะธรรมล้านนาอย่างกลมกลืน ทั้งลวดลายปูนปั้นประดับกระจกและจิตรกรรรมฝาผนังขนาดใหญ่ ลักษณะเด่นของวัดคือ พระอุโบสถถูกแต่งด้วยลวดลายกระจกสีเงินแวววาวเป็นเชิงชั้นลดหลั่นกันไป หน้าบันประดับด้วยพญานาคมีงวงงาดูแปลกตาน่าสนใจมาก ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถเป็นฝีมือภาพเขียนของอาจารย์เอง

----------------------------------------

วัดพระแก้ว


            วัดพระแก้ว เป็นจุดที่ค้นพบพระแก้วมรกต และเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตเป็นเวลา 45 ปี ก่อนที่จะเอิญไปยังเชียงใหม่ วันนี้แต่เดิมวัดนี้มีชื่อว่าวัดป่าเยี้ย หลังพระอุโบสถมีเจดีย์อยู่องค์หนึ่งซึ่งได้พังลงมาแล้วได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทององค์หนึ่งตกลงมาจากเจดีย์จึงได้อัญเชิญไปไว้วิหารหลวงได้ 2 เดือน ต่อมาปูนกระเทาะออกจึงเห็นเป็นแก้วสีเขียวทั้งองค์ หลังจากนั้นวัดนี้จึงเรียกสืบต่อกันมาว่า วัดพระแก้ว ปัจจุบันเจดีย์องค์ดังกล่าวได้รับการบูรณะใหม่เป็นเจดีย์หุ้มทองจังโก๋เหลืองอร่ามทั้งองค์

พระอุโบสถในวัดพระแก้วมีความงดงามมาก ในปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน คนเชียงรายเรียกกันว่า พระเจ้าล้านทอง เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเชียงรายเคารพนับถือเป็นอันมาก แต่เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเจ้าล้านทอง ต่อมามีสภาพเป็นวัดร้างจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดดอยงำเมือง และได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดพระแก้วเมื่อปี 2504
            พระแก้วหยก เป็นพระพุทธรูปหยกที่คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวเชียงรายร่วมกันสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระชนมายุครบ 90 พรรษา เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2533 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 20 ก.ย. พ.ศ. 2534 ชาวเชียงรายได้อัญเชิญมาประดิษฐานหอพระ ณ วัดพระแก้ว เรียกว่า พระหยกเชียงราย
            ปัจจุบันวัดพระแก้วมีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521

----------------------------------------

วัดพระสิงห์
           วัดพระสิงห์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดที่มีความเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามหาพรหม ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้ากือนากษัตริย์เชียงใหม่ พระเจ้ามหาพรหมได้มาครองเมืองเชียงรายระหว่างปี พ.ศ. 1888-1943 ได้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อในปี พ.ศ. 1928 ต่อมาได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงใหม่และได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้เป็นเวลา 20 วัดนี้จึงมีชื่อเรียกสืบต่อกันมาว่าวัดพระสิงห์ ครั้นเมื่อพระเจ้ากือนากษัตริย์เมืองเชียงใหม่สวรรคต พระเจ้าแสนเมืองมาได้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่แทน พระเจ้ามหาพรมจึงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่แต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าแสนเมืองมาจึงได้ยกทัพกลับมาตีเมืองเชียงรายได้ และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับสู่เชียงใหม่โดยตังประดิษฐ์ไว้ที่วัดพระสิงค์จังหวัดเชียงใหม่จนถึงปัจจุบัน ส่วนพระเจ้าแสนเมืองมาก็ต้องหนีมาอาศัยอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร

            ภายในวัดมีพระอุโบสถแบบล้านนาที่มีความงดงาม และได้รับการบูรณะต่อๆ กันมา จนครั้งล่าสุดได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2533 ประตูพระอุโบสถใหม่มีลวดลายที่งดงามมาก

----------------------------------------